วันนี้ไม่มีการเรียนการสอน เพราะเป็นวันหยุดราชการ วันเข้าพรรษา ค่ะ
ความรู้เพิ่มเติม
วันเข้าพรรษา 2555
Buddhist Lent Dayวันเข้าพรรษา วันสำคัญทางพระพุทธศาสนาความเป็นมาของการเข้าพรรษา
ในเรื่องความเป็นมาของการเข้าพรรษา ถ้าว่ากันตามประวัติย่อๆ คือ ในยุคต้นพุทธกาล ก็ยังไม่มีการเข้าพรรษา เพราะฉะนั้นตลอดทั้งปี เมื่อพระภิกษุมีความเห็นว่าท่านควรจะไปเทศน์ ไปสอนญาติโยมที่ไหนได้ ท่านพอมีเวลา ท่านก็จะไป หรือไม่ได้ไปเทศน์ไปสอนใคร ถ้าเห็นว่าที่ไหนมันเงียบ มันสงัดดี เหมาะในการที่จะไปบำเพ็ญภาวนา ทำสมาธิ(Meditation)ของท่าน ท่านก็จะไป ซึ่งแน่นอน ส่วนมากก็จะอยู่ในเขตที่เป็นป่าเป็นเขา ไกลๆออกไปจากตัวเมือง หรือว่าต้องผ่านไปในชนบทนั่นเองจากการที่ท่านต้องไปอย่างนี้ เนื่องจากในฤดูฝนที่เขาทำไร่ทำนากันอยู่นั้น บางครั้ง ข้าวกล้าของเขาก็เพิ่งหว่านลงไปในนา มันเพิ่งงอกออกมาใหม่ๆ บางทีก็ดูเหมือนหญ้า พระภิกษุก็เดินผ่านไป นึกว่ามันเป็นดงหญ้า ก็เลยย่ำข้าวกล้าของเขาไป ซึ่งก็ทำให้ชาวบ้านเดือดร้อน เขาก็มาฟ้องพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่าพระไปย่ำข้าวของเขาที่ปลูกเอาไว้ หว่านเอาไว้ นกกาฤดูฝนมันยังอยู่กับรังของมัน พระทำไมไม่รู้จักพักบ้างวันเข้าพรรษาคือตั้งแต่แรม 1 ค่ำเดือน 8 จนถึงขึ้น 15 ค่ำเดือน 11เพื่อตัดปัญหานี้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เลยทรงกำหนดให้พระภิกษุ เมื่อเข้าพรรษา หรือเมื่อเข้าฤดูฝน ให้พระอยู่กับที่ คือ ตั้งแต่แรม 1 ค่ำเดือน 8 จนกระทั่งขึ้น 15ค่ำเดือน11 ให้อยู่เป็นที่เป็นทาง ไม่ไปทำภาวนาที่ไหน ไม่ไปเทศน์โปรดใคร ถ้าใครต้องการให้โปรด ก็มาที่วัดก็แล้วกัน มาหาท่าน ไม่ใช่ท่านไปหาเขา กำหนดเป็นอย่างนี้ไป เพื่อตัดปัญหาไม่ให้ใครมาบ่นลูกของพระองค์ได้แต่อีกมุมมองหนึ่ง พระองค์ทรงถือโอกาสที่เกิดเป็นปัญหานี้ ได้ทรงเปลี่ยนคำครหาให้กลายเป็นโอกาสดีของพระภิกษุว่า ถ้าอย่างนั้นพระภิกษุอยู่เป็นที่ในวัดวาอาราม เพื่อที่จะให้พระใหม่ได้รับการอบรมจากพระเก่าได้เต็มที่ เพราะว่าจริงๆแล้ว ในการอบรมถ่ายทอดศีลธรรม ถ่ายทอดธรรมวินัยให้แก่กันและกันนั้น ถ้าทำอย่างต่อเนื่อง ทำเป็นที่เป็นทางต่อเนื่องกันทุกวันทุกวัน อย่างนี้จะเป็นการดี การศึกษาธรรมะอย่างต่อเนื่องมีผลดีพระภิกษุต้องอยู่วัดช่วงเข้าพรรษาเพราะฉะนั้น พระองค์ก็เลยทรงกำหนดขึ้นมาว่า ให้พระภิกษุอยู่กับที่ในช่วงเข้าพรรษาอยู่ในวัด แล้วพระใหม่ก็ศึกษาหรือรับการถ่ายทอดธรรมะจากพระเก่า ส่วนพระเก่าก็ทำหน้าที่เป็นครูบาอาจารย์ด้วย คือ สอนพระใหม่เท่านั้นยังไม่พอ พระเก่าก็วางแผน กำหนดแผนการเลยว่าเมื่อออกพรรษาแล้ว ควรจะเดินทางไปโปรดที่ไหน นั่นก็อย่างหนึ่ง อีกทั้งปรับปรุงหลักสูตรวิธีการเทศน์การสอน การอบรมให้เหมาะกับท้องถิ่น ให้เหมาะกับสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป เป็นต้นช่วงเข้าพรรษาพระใหม่ก็ศึกษาธรรมะจากพระเก่าพระเก่าก็ทำหน้าที่เป็นครูบาอาจารย์สอนพระใหม่ดังนี้ การเข้าพรรษาจึงเป็นการดีทั้งประชาชน ดีทั้งพระเก่า พระใหม่ ไปในตัวเสร็จกิจวัตรของพระภิกษุในฤดูเข้าพรรษาทีนี้กิจวัตรของพระภิกษุในฤดูเข้าพรรษา ว่าที่จริงก็ทำนองเดียวกันกับออกพรรษา เพียงแต่ว่าเมื่อไม่ได้ออกไปนอกพื้นที่ พระภิกษุจึงมีโอกาสดังต่อไปนี้ตัวท่านเองนั้น ก็มีโอกาสที่จะทำภาวนาของท่าน มีโอกาสที่จะปรับปรุงหลักสูตรของท่าน มีโอกาสที่จะค้นคว้าพระไตรปิฎกให้ยิ่งๆ ขึ้นไป อันนี้ก็เป็นเรื่องราวในปัจจุบันนี้ กิจวัตรในปัจจุบันของพระ เราก็ทำอย่างนี้ในช่วงเข้าพรรษานี้พระภิกษาสงฆ์จะได้มีโอกาสหาความรู้จากพระไตรปิฎกให้ยิ่งๆ ขึ้นไปยิ่งกว่านั้น ถ้าเราไปตามวัดต่างๆ ในขณะนี้ ในฤดูเข้าพรรษานี้ เนื่องจากเราก็นิยมบวชกัน จะบวชชั่วคราวแค่พรรษาก็ตาม หรือจะบวชระยะยาวก็ตาม ในเมื่อพอเข้าพรรษาแล้ว พระเก่าพระใหม่ต้องอยู่ที่เดียวกัน พระเก่าทำหน้าที่เป็นครูบาอาจารย์ ใครถนัดวิชาไหนก็มาสอนวิชานั้นให้แก่พระภิกษุใหม่ ใครถนัดพระวินัยก็สอนพระวินัย ใครถนัดสอนนักธรรมหรือธรรมะก็สอนธรรมะ ใครถนัดสอนพุทธประวัติก็สอนพุทธประวัติ เป็นต้นพูดง่ายๆ ฤดูเข้าพรรษาจึงกลายเป็นฤดูติวเข้ม หรือถ้าจะพูดกันอย่างในปัจจุบันก็บอกว่า ฤดูเข้าพรรษานี่แท้จริงก็เป็น Moral Camping ของพระภิกษุนั่นเอง กิจวัตรอื่นใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการออกไปโปรดญาติโยมก็พักเอาไว้ก่อน จึงเหลือแต่เรื่องของการศึกษาเป็นหลัก ค้นคว้าพระไตรปิฎกเป็นหลัก เนื่องจากมีเวลาที่จะค้นคว้าฤดูกาลเข้าพรรษาเป็นฤดูกาลติวเข้มของพระภิกษุเมื่อหมดจากเวลาการค้นคว้า ก็มานั่งสมาธิกันไป อันนี้ก็เป็นเรื่องของการค้นคว้าภายใน พระไตรปิฎกในตัว พระไตรปิฎกนอกตัวก็มีอยู่เป็นเล่มๆ ค้นคว้าพระไตรปิฎกในตัวก็คือการทำภาวนานั่นเองยิ่งกว่านั้น เมื่อพระใหม่มาอยู่ในวัดกันพร้อมหน้าพร้อมตา โยมพ่อโยมแม่ ญาติพี่น้อง พรรคพวกเพื่อนฝูงของพระใหม่ ได้มาร่วมทำบุญที่วัด ได้มาพบพระเพื่อน พบพระลูก พบพระหลาน ถึงแม้พระลูกพระหลานเหล่านี้ยังเทศน์ไม่เป็น เพราะบวชใหม่ แต่ว่าเมื่อมาแล้วก็จะได้พบพระครูบาอาจารย์ พระผู้ใหญ่ ท่านที่มาร่วมทำบุญเหล่านี้จึงมีโอกาสฟังเทศน์จากพระผู้ใหญ่ จึงกลายเป็นฤดูแห่งการศึกษาธรรมะไปด้วยในตัวเสร็จ ทั้งของพระ ทั้งของญาติโยม อันนี้ก็เป็นเรื่องราวของการเข้าพรรษาในยุคปัจจุบันนี้การปฏิบัติตัวของชาวพุทธในช่วงเข้าพรรษา
ในช่วงเข้าพรรษา พระเก่าพระใหม่ ท่านอยู่กันพร้อมหน้า เมื่ออยู่พร้อมหน้ากันอย่างนี้ ก็เป็นโชคดีของญาติโยม โชคดีอย่างไร โชคดีที่เนื้อนาบุญอยู่กันพร้อมหน้า ญาติโยมตั้งแต่ครั้งปู่ย่าตาทวด ท่านไม่ปล่อยให้พระเข้าพรรษาเพียงลำพัง ญาติโยมก็พลอยเข้าพรรษาไปด้วยเหมือนกัน แต่ว่าเข้าพรรษาของญาติโยมนั้น เข้าพรรษาด้วยการอธิษฐานจิตหลักธรรมในพระพุทธศาสนา มีแม่บทไว้ชัดอยู่ 3 ข้อ คือ
1.ละ ชั่ว
2.ทำดี
3.กลั่นใจให้ใสเมื่อพระอยู่จำพรรษา ท่านก็มีหน้าที่ของท่านว่า ละชั่ว คำ ว่า ละชั่วของพระนั้น ไม่ใช่ ชั่ว หยาบๆอย่าง ที่มนุษย์เป็นกัน แต่ว่าละชั่วของท่านในที่นี้หมายถึงละกิเลส ซึ่งแม้ในเรื่องนั้นโดยทางโลกแล้ว มองไม่ออกหรอกว่ามันเป็นความชั่ว ความไม่ดี เช่น มีจิตใจฟุ้งซ่าน ความจริงก็อยู่ในใจของท่าน คนอื่นมองไม่เห็น ถึงขนาดนั้น ท่านก็พยายามจะละความฟุ้งซ่านของท่านให้ได้ ด้วยการเจริญภาวนา หรือทำสมาธิให้ยิ่งๆขึ้นไป เป็นต้น ท่านก็ละกิเลสหรือละชั่วที่ละเอียดๆ ยิ่งๆ ขึ้นไป ให้สมกับภูมิแห่งความเป็นพระของท่านช่วงเข้าพรรษาพระใหม่ก็ตั้งใจศึกษาหาความรู้ให้เพิ่มพูนยิ่งๆ ขึ้นไปความดีท่านก็ทำให้ยิ่งๆ ขึ้น ตัวอย่างเช่น อยู่ที่วัดพระเก่าก็เทศน์อบรมให้พระใหม่ พระใหม่ก็ตั้งใจศึกษาให้เป็นความรู้ความดี เพิ่มพูนความดีให้กับตัวของท่านไป แล้วก็ทำใจให้ใส พร้อมๆ กัน ด้วยการสวดมนต์ภาวนา แต่เช้ามืด ท่านตื่นกันขึ้นมาตั้งแต่ตีสี่ ตื่นขึ้นมาสวดมนต์กันแต่เช้า เป็นต้นสำหรับญาติโยมทั้งหลาย แต่โบราณ พอวันเข้าพรรษาก็อธิษฐานพรรษากันเหมือนกัน อธิษฐานอย่างไร อธิษฐานอย่างนี้ พรรษานี้ สามเดือนนี้ ที่รู้ว่าอะไรเป็นนิสัยที่ไม่ดีในตัวเองที่มีอยู่ ก็อธิษฐานเลย พรรษนี้ (เลือกมาอย่างน้อยหนึ่งข้อ) เราจะแก้ไขตัวเองให้ได้ เช่น บางคนเคยกินเหล้า เข้าพรรษาแล้วก็อธิษฐานว่า พรรษนี้เลิกเหล้า เลิกเหล้าให้เด็ดขาด บางคนเคยสูบบุหรี่ ก็อธิษฐานว่า อย่างน้อยพรรษานี้จะเลิกบุหรี่ให้เด็ดขาด เป็นต้น เขาก็มีการอธิษฐานกันในวันเข้าพรรษา พรรษานี้จะละความไม่ดีอะไรบ้าง ทั้งหยาบ ทั้งละเอียด ให้พยายามละกัน คือ ทำตามพระให้เต็มที่นั่นเองในระดับของประชาชนสิ่งใดที่เป็นความดี ก็พยายามที่จะทำให้ยิ่งๆขึ้นไป เช่น เมื่อก่อนนี้ ก่อนจะเข้าพรรษา ตักบาตรบ้าง ไม่ตักบาตรบ้าง วันไหนมีโอกาสก็ทำ วันไหนชักจะขี้เกียจก็ไม่ทำ เมื่อพรรษานี้ พระอยู่พร้อมหน้าพร้อมตาดีแล้ว ตั้งใจเลยที่จะตักบาตรให้ได้ทุกเช้า เมื่อก่อนไม่ทุกเช้า แค่วันเสาร์ วันอาทิตย์หรือวันโกนวันพระ พรรษานี้พระอยู่พร้อมหน้า อธิษฐานเลย จะตักบาตรทุกเช้าตลอดสามเดือนนี้ที่เข้าพรรษา นี่ก็เป็นธรรมเนียมที่ปู่ย่าตาทวดทำกันรักษาศีลในช่วงเข้าพรรษาจากศีลห้าก็ยกขึ้นไปเป็นศีลแปดบางท่านยิ่งกว่านั้น ธรรมดาเคยถือศีลห้าเป็นปกติอยู่แล้ว พรรษานี้เลยถือศีลแปดทุกวันพระไปเลย แถมจากศีลห้ายกขึ้นไปเป็นศีลแปด บางท่านเคยถือศีลแปดทุกวันพระ ถืออุโบสถศีลมาทุกวันพระแล้ว เมื่อพรรษาที่แล้ว พรรษานี้ถือศีลแปด ถืออุโบสถศีล ทั้งวันโกนวันพระ เพิ่มเป็นสัปดาห์ละสองวัน บางท่านเก่งกว่านั้นขึ้นไปอีก พรรษานี้จะรักษาศีลแปด รักษาอุโบสถศีล กันตลอดสามเดือนเลยใครมีกุศลจิตศรัทธามากเพียงไหน ก็ทำให้ยิ่งๆขึ้นไปตามนั้น บางท่านยิ่งกว่านั้นขึ้นไปอีก ถึงกับอธิษฐานว่า พรรษานี้นอกจากถือศีลกันตลอด ถือศีลแปดกันตลอดพรรษาแล้วยังไม่พอ อธิษฐานที่จะทำสมาธิทุกวัน ทุกคืนก่อนนอนวันละหนึ่งชั่วโมง ใครที่ไม่เคยทำก็อธิษฐานจะทำสมาธิวันละหนึ่งชั่วโมง คืนละหนึ่งชั่วโมง บางท่านเพิ่มเป็นคืนละสองชั่วโมง สามชั่วโมง ก็ว่ากันไปตามกุศลศรัทธาอย่างนี้ นี่ก็เป็นสิ่งที่ปู่ย่าตาทวดของเราทำกันมาอีกอย่างหนึ่งที่อยากจะฝากก็คือ เนื่องจากปัจจุบันนี้สังคมเปลี่ยนไป ญาติโยมประชาชนส่วนมากหยุดงานกันวันเสาร์ วันอาทิตย์ แต่พระนั้น แต่เดิมก็เทศน์กันวันโกนวันพระเป็นหลัก เมื่อเป็นอย่างนี้ จึงเหลือเพียงคนเฒ่าคนแก่เท่านั้น ที่ไปฟังเทศน์ในวันโกนวันพระแต่เข้าพรรษานี้ ขอฝากหลวงพ่อ หลวงพี่ ด้วยก็แล้วกัน ถ้าจะเพิ่มวันเทศน์วันสอนธรรมะให้กับประชาชนในวันเสาร์-วันอาทิตย์ ซึ่งญาติโยมเขาหยุดงานกันอีกสักวันสองวันก็จะเป็นการดี แล้วก็ญาติโยมด้วยนะ รู้ว่าพระเทศน์วันโกนวันพระ แล้วครั้งนี้เข้าพรรษา ท่านแถมวันเสาร์-วันอาทิตย์ให้ด้วย อย่าลืมไปฟังท่านเทศน์ด้วยนะ ถ้าขยันกันอย่างนี้ มีแต่บุญกุศลกันตลอดทั้งพรรษาเลย แล้วความเจริญรุ่งเรืองทั้งตัวเอง ทั้งพระพุทธศาสนา ประเทศชาติบ้านเมืองของเรา ก็จะบังเกิดขึ้นตลอดปี ตลอดไปบวชเข้าพรรษาหน้าที่อันยิ่งใหญ่ของลูกผู้ชายประเพณีการบวชช่วงเข้าพรรษาความจริงแล้ว พระในพระพุทธศาสนา ไม่ว่าจะบวชในฤดูกาลไหน หรือจะบวชช่วงสั้น ช่วงยาวแค่ไหนก็ตาม มีวัตถุประสงค์ในการบวชเหมือนกัน คือ มุ่งที่จะกำจัดทุกข์ให้หมดไป แล้วก็ทำพระนิพพานให้แจ้ง หรือ พูดกันภาษาชาวบ้านว่า มุ่งกำจัดกิเลสเพื่อบรรลุมรรคผลนิพพาน จะได้ไม่ต้องมาเวียนว่ายตายเกิดกันอีกทีนี้อย่างไรก็ตาม เมื่อบวชแล้ว ไม่ว่าบวชช่วงสั้นช่วงยาว ตั้งใจอย่างนี้ ทำตามวัตถุประสงค์ของการบวชอย่างนี้เต็มที่ ไม่ว่าบวชช่วงไหนก็ได้บุญเท่าๆ กันทั้งนั้น อันนี้โดยหลักการแต่ว่าเอาจริงๆ เข้าแล้ว เนื่องจากเรานั้น ยังเป็นคนที่เข้ามาสู่ศาสนากันใหม่ๆ แล้วก็ยังต้องการสภาพที่เหมาะสมพิเศษๆ ในการที่จะศึกษาธรรมะ ในการที่จะขัดเกลาตัวเอง ตามคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะฉะนั้น ถ้าได้บรรยากาศพิเศษๆขึ้นมา ก็จะช่วยให้การบรรลุวัตถุประสงค์ของการบวชนั้นง่ายขึ้นและดีขึ้น ปู่ย่าตาทวดของเราจึงได้เลือกแล้วว่า ฤดูเข้าพรรษาเป็นบรรยากาศพิเศษ เหมาะที่จะให้ลูกหลานของตัวเองจะเข้ามาบวช พิเศษอย่างไรในฤดูนี้ประการที่ 1. ดินฟ้าอากาศเป็นใจ คือ ในฤดูร้อนของประเทศไทย เรารู้ๆ กันอยู่ว่า ถึงคราวร้อนก็ร้อนเหลือหลาย ร้อนจนกระทั่งแม้ในทางโลก เด็กนักเรียนก็ปิดเทอมกันภาคฤดูร้อน ฤดูร้อนเรียนกันไม่ค่อยจะรู้เรื่อง อากาศมันร้อนหนัก เพราะฉะนั้นโรงเรียนก็ปิดเรียน ในทางธรรมก็เช่นกัน ถ้าจะให้พระใหม่มาเรียนธรรมะในฤดูร้อนคงย่ำแย่ในฤดูหนาวก็เช่นกัน สมัยเราเป็นเด็ก ไปโรงเรียนกันในฤดูหนาว เป็นเด็กนักเรียนก็ไปนั่งผิงไฟกันด้วยซ้ำ ไปนั่งงอก่องอขิงกัน บรรยากาศในการเรียนมันหย่อนๆ ไปเหมือนกัน ร้อนไปก็ไม่ดี หนาวไปก็ไม่ดี ฤดูที่ไม่หนาวไม่ร้อนจนเกินไป เห็นมีอยู่ฤดูเดียวสำหรับประเทศไทย คือ ฤดูฝน หรือฤดูเข้าพรรษานั่นเอง เพราะฉะนั้นช่วงเข้าพรรษา ดินฟ้าอากาศมันพร้อม มันดีพร้อม มันเป็นใจ เหมาะแก่การศึกษาธรรมะ การค้นคว้าธรรมะ ให้ยิ่งๆ ขึ้นไปครูบาอาจารย์จะพร้อมหน้าพร้อมตามากที่สุดในฤดูเข้าพรรษานี้ประการที่ 2. ครูก็พร้อม เพราะว่าพระภิกษุที่เป็นครูบาอาจารย์ ท่านถูกพระวินัยกำหนดแล้วว่า ห้ามไปไหน ต้องพักค้างอยู่ในวัดตลอดพรรษา ดังนั้น ครูบาอาจารย์จึงพร้อมหน้าพร้อมตามากที่สุดในฤดูเข้าพรรษานี้ เพราะฉะนั้นถ้าใครมาเป็นลูกศิษย์ ก็จะได้พบหน้าพระที่เป็นครูบาอาจารย์ทุกองค์เลย โอกาสจะได้รับการถ่ายทอดธรรมะจึงเต็มที่มากกว่าฤดูอื่นประการที่ 3. เราถือเป็นค่านิยมกันแล้วว่า พระใหม่ควรจะบวชในฤดูเข้าพรรษา เพราะฉะนั้น ต้องถือว่าฤดูนี้ ดินฟ้าอากาศเป็นใจ ครูบาอาจารย์ คือ พระเก่าก็พร้อม ลูกศิษย์ คือ พระใหม่ก็พร้อมหน้าพร้อมตากันมาบวชในฤดูนี้ เมื่อเป็นอย่างนี้ความคึกคักในการเรียนมันก็มียิ่งไปกว่านั้น ความพร้อมประการที่ 4. ในส่วนของญาติโยม เมื่อลูกหลานมาบวช ญาติโยมก็เกิดความคึกคักเหมือนกันที่จะมาฟังเทศน์ด้วย เพราะว่ามาด้วยความห่วงพระลูกพระหลานของตัวเอง อีกทั้งยังนำข้าวปลาอาหารมาทำบุญ มาเลี้ยงพระลูกพระหลาน แล้วก็เลยเลี้ยงกันไปทั้งวัดอีกด้วยยังไม่พอมาเลี้ยงพระลูกพระหลานเสร็จแล้ว ถึงอย่างไรก็ต้องไปกราบพระที่เป็นครูบาอาจารย์ เมื่อเป็นอย่างนี้ความคุ้นเคยระหว่างพระกับโยมในช่วงเข้าพรรษาก็มีมากขึ้น ญาติโยมจึงมีโอกาสจะได้ฟังเทศน์ฟังธรรมพร้อมๆกันไปด้วย พระลูกพระหลานก็เข้าห้องเรียนไปห้องหนึ่ง โยมพ่อโยมแม่ก็เข้าฟังเทศน์ในศาลาอีกศาลาหนึ่ง รวมทั้งข้าวปลาอาหารก็มีพร้อมมูลอย่างนี้ บรรยากาศแห่งความสมบูรณ์ในการประพฤติปฏิบัติธรรมมาพร้อมกันถึง 4 ประการอย่างนี้ ฤดูเข้าพรรษาจึงนับว่าเป็นฤดูที่เหมาะสมต่อการเข้ามาบวชอย่างยิ่งจึงเป็นธรรมเนียมกันมาทุกวันนี้ว่า บวชตอนเข้าพรรษานั้นน่าบวชที่สุด เพราะว่ามีโอกาสได้บุญมากที่สุด ทั้งพระผู้บวช คือ ได้ศึกษาเต็มที่ มีโอกาสที่จะโปรดโยมพ่อโยมแม่มากที่สุด เพราะถึงแม้ตัวเองเป็นพระใหม่ยังเทศน์ไม่ได้ แต่พระอาจารย์ในวัดก็ช่วยเทศน์ให้ ทุกอย่างมันสมบูรณ์พูนสุขจริงๆ บวชเข้าพรรษาจึงมีทีท่าว่าได้บุญมากกว่าฤดูอื่น ด้วยประการฉะนี้*เรียบเรียงจากรายการหลวงพ่อตอบปัญหา ทาง DMCโดย พระภาวนาวิริยคุณ (เผด็จ ทัตตชีโว)เข้าพรรษา เข้าถึงธรรม ฝึกฝนอบรมจิตใจให้สะอาดบริสุทธิ์ในช่วงเทศกาลเข้าพรรษา พระภิกษุสงฆ์ต่างแสวงหาสถานที่สัปปายะที่เหมาะสมต่อการบำเพ็ญเพียร ทำภาวนาตลอดไตรมาส ทำใจให้หยุดนิ่ง เพิ่มพูนความบริสุทธิ์กาย วาจา ใจ เพื่อจะได้เป็นเนื้อนาบุญของชาวโลก ตลอดพรรษาท่านจึงฝึกฝนอบรมจิตใจให้สะอาดบริสุทธิ์ โดยไม่ไปแรมราตรีที่ไหน แต่จะแสวงหาทางแห่งความบริสุทธิ์ภายใน ซึ่งเริ่มต้นที่ศูนย์กลางกายฐานที่ 7 นี่เองในฤดูเข้าพรรษา ตามพุทธประเพณีที่ประพฤติปฏิบัติสืบต่อกันมานั้น นอกจากจะกำหนดขอบเขตที่จำพรรษาแล้ว ผู้รู้ทั้งหลายยังกำหนดขอบเขตของใจให้อยู่ในวงกาย คือ อยู่ในปริมณฑลรอบตัว ด้วยการน้อมใจมาตั้งไว้ที่ศูนย์กลางกายตลอดเวลา มีสติไม่ให้เผลอออกนอกตัว เพราะยิ่งดำเนินจิตเข้าสู่กลางภายในได้มากเท่าไร ความสุขและความบริสุทธิ์ ก็จะเพิ่มพูนทับทวีมากยิ่งขึ้นไปตามลำดับนอกจากนี้ ท่านจะถือเอาโอกาสนี้ ศึกษาพระปริยัติธรรม รวมทั้งนักธรรมบาลีให้แตกฉานควบคู่ไปด้วย คือ ศึกษาทั้งปริยัติ ปฏิบัติ และปฏิเวธ เพื่อจะได้มีความรู้แนะนำสั่งสอนตนเองและชาวโลก ให้ได้รู้แจ้งในธรรมด้วย การเข้าพรรษาในสมัยพุทธกาล ถือว่าเป็นช่วงเวลาที่สำคัญมาก พระสงฆ์ในหลายๆ วัด ท่านจะตั้งกติกาที่จะเป็นเหตุให้การปฏิบัติธรรมได้ผลยิ่งขึ้นไป*ดังเช่นในครั้งพุทธกาล สมัยหนึ่ง พระมหาปาละ ซึ่งเคยเป็นลูกเศรษฐีมาก่อน แต่ว่ามีจิตเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา จึงได้สละชีวิตทางโลก มุ่งตรงต่อเส้นทางธรรม เพื่อแสวงหาทางที่จะหลุดพ้นจากกิเลสอาสวะ เมื่อบวชแล้วท่านได้ตั้งใจปฏิบัติธรรมอย่างจริงจังคราวหนึ่ง ท่านเดินทางไปหาสถานที่จำพรรษาตามชนบทกับคณะสงฆ์หมู่ใหญ่ เพื่อจะได้ใช้เวลาปฏิบัติธรรมให้เต็มที่ ครั้นชาวบ้านในละแวกนั้นเห็นพระมาโปรดถึงบ้าน ต่างเกิดจิตเลื่อมใสพากันอาราธนาให้ท่านอยู่จำพรรษาในหมู่บ้านแห่งนั้น พร้อมกับปวารณาตนว่า "ถ้าพระภิกษุสงฆ์ทั้งหมดจำพรรษาอยู่ที่นี่ ก็จะช่วยกันอุปัฏฐากดูแลไม่ให้ท่านลำบาก และจะตั้งใจรักษาศีลเจริญภาวนาตามที่พระสั่งสอน"พระมหาปาละเห็นว่า หมู่บ้านแห่งนี้เหมาะต่อการทำความเพียร วัดก็อยู่ไม่ไกลบ้าน ทั้งยังไม่มีเสียงดังรบกวน ไม่มีคนพลุกพล่าน ทุกคนในหมู่บ้านก็มีจิตศรัทธาเลื่อมใส จึงตกลงที่จะจำพรรษาที่วัดนั้นด้วยกันหมดทุกรูปในวันเข้าพรรษา ท่านได้ปรึกษากับคณะสงฆ์ในวัดว่า "ภายใน พรรษานี้ พวกเราจะตั้งใจปฏิบัติธรรม ให้บรรลุธรรมด้วยวิธีการใดบ้าง" แต่ละรูปต่างบอกวิธีการทำความเพียรของตน เช่น จะตั้งใจรักษาศีลให้บริสุทธิ์ แล้วทำสมาธิทุกวันไม่ให้ขาด จะไม่มัวมานั่งจับกลุ่มพูดคุยกันในเรื่องไร้สาระ เป็นต้น พระเถระก็อนุโมทนาในความตั้งใจดีของภิกษุแต่ละรูป ส่วนตัวท่านได้ประกาศในท่ามกลางสงฆ์ว่า ท่านมาบวชในช่วงที่อายุมากแล้ว ตลอดพรรษานี้จึงตั้งใจว่าจะเร่งรีบทำความเพียร โดยจะอยู่ในอิริยาบถ 3 เท่านั้น คือ นั่ง เดิน ยืน แต่จะไม่นอนเป็นอันขาดนอกจากนี้ ท่านยังได้กำชับอีกว่า "พวกเราเรียนพระกัมมัฏฐานจากพระ ผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว ควรเป็นผู้ไม่ประมาท เพราะพระพุทธเจ้าไม่ทรงสรรเสริญความเกียจคร้าน แต่ทรงยินดีกับผู้ที่ตั้งใจปรารภความเพียร ดังนั้นเราทั้งหลายจะต้องตั้งใจบำเพ็ญเพียรให้ยิ่งๆขึ้นไป" จากนั้นพระเถระก็ตั้งใจทำความเพียรอย่างจริงจัง โดยไม่ยอมจำวัดตลอด 1 เดือนต่อมา ดวงตาของท่านเกิดอาการอักเสบ ด้วยความที่ท่านอายุมากแล้ว อีกทั้งกรรมเก่าในอดีตตามมาให้ผล ท่านจึงปวดลูก นัยน์ตามาก น้ำตาไหลอยู่ตลอดเวลา ภิกษุที่คอยอุปัฏฐากท่าน จึงไปปรึกษาแพทย์ในหมู่บ้าน แพทย์ได้ปรุงยามาให้ท่านหยอดตา แต่พระเถระไม่ยอมนอนหยอดตา เพราะเกรงจะผิดสัจจะที่ได้ตั้งจิตอธิษฐานว่าจะไม่นอน ดังนั้นท่านจึงนั่งหยอดตา ทำให้ไม่หายจากโรค เมื่อแพทย์รู้ข่าวว่าพระเถระยังไม่หาย ก็สงสัยว่าปกติยาหยอดตาที่ปรุงพิเศษนี้ หยอดเพียงครั้งเดียวก็หายแล้ว แต่ทำไมพระเถระถึงยังไม่หาย เมื่อรู้ว่าพระเถระไม่ยอมนอนหยอดตา จึงขอร้องท่านว่า "ขอให้พระคุณเจ้านอนหยอดตาเถิด ถ้าไม่นอนก็รักษาไม่หาย"พระเถระก็ยังคงนั่งหยอดตา ไม่ยอมเหยียดหลังลงนอน ท่านเตือนสติตนเองว่า "สังสารวัฏนี้ยาวไกลยิ่งนัก ไม่มีใครกำหนดเบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุดได้ ถ้าเรามัวมาห่วงแต่ดวงตา เราคงจะไม่หลุดพ้นจากกิเลสอาสวะไปได้ ฉะนั้นเราจะไม่ยอมเห็นแก่ดวงตาคู่นี้"หลังจากแพทย์กลับไปแล้ว ท่านได้ตั้งใจทำสมาธิภาวนาต่อไป โดยปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นในโลกภายนอก แล้วทำใจหยุดนิ่งเข้าสู่กลางภายในเรื่อยไป เมื่อล่วงพ้นมัชฌิมยาม ดวงตาทั้งสองของท่านก็แตกดับไป พร้อมๆ กับดวงธรรมภายในที่สว่างไสวขึ้นมาแทนที่ ท่านได้เข้าถึงธรรมกายอรหัต หมดกิเลสเป็นพระอรหันต์ในคืนนั้นเองพระรัตนตรัยภายในตัว แสงสว่างภายในนำมาซึ่งความสุขแม้ดวงตาภายนอกจะมืดบอด แต่ตาภายใน คือ ธรรมจักษุของท่านนั้น สว่างไสวยิ่งกว่าดวงอาทิตย์ยามเที่ยงวัน เป็นแสงสว่างที่นำมาซึ่งความสุข ความบริสุทธิ์ และความรู้แจ้งในธรรมทั้งหลาย แทงตลอดในนิพพาน ภพสาม โลกันตร์ อีกทั้งในพรรษานั้น ท่านยังได้สั่งสอนลูกศิษย์และพุทธบริษัทให้ได้บรรลุธรรมกันมากมายเราจะเห็นว่า ในสมัยก่อน ช่วงเข้าพรรษาพระภิกษุจะปรารภความเพียรกันอย่างจริงจัง มีกติกาเพื่อให้การปฏิบัติธรรมก้าวหน้า จนกระทั่งหลุดพ้นจากกิเลสอาสวะ ส่วนญาติโยมต่างตั้งใจรักษาศีลและเจริญภาวนาตามที่พระสั่งสอน ทำให้เข้าถึงประสบการณ์ภายใน และได้บรรลุธรรมกายในที่สุดดังนั้น พรรษานี้ควรให้เป็นพรรษาที่พิเศษสำหรับพวกเราทุกคน เป็นพรรษาแห่งการเข้าถึงธรรม พรรษาแห่งความสมปรารถนา หลวงพ่อปรารถนาเชิญชวนให้ทุกๆคนทั่วโลก นั่งสมาธิกันทุกวัน อย่างน้อยวันละ 1 ชั่วโมง พรรษานี้ตั้งใจว่า อยากจะให้ได้ 10 ล้านชั่วโมงธรรมกาย แต่ถ้าทำได้มากกว่านั้นก็ยิ่งดี เพราะฉะนั้นให้ตั้งใจแน่วแน่ว่าตลอดพรรษานี้ เราจะนั่งสมาธิทุกๆวัน วันละ 1 ชั่วโมงเป็นอย่างน้อย นั่งกันทั้งครอบครัว ยิ่งถ้าเรามานั่งรวมกันมากๆ ก็จะยิ่งเกิดกำลังใจซึ่งกันและกัน ให้เปิดบ้านของเราเป็นบ้านกัลยาณมิตร เพื่อเป็นอริยสถานแห่งการบรรลุธรรมของผู้มีบุญ ที่เขาจะมาเข้าถึงธรรม ทำบ้านของเราให้เป็นประดุจทิพยสถานในเมืองมนุษย์ เป็นที่ปฏิบัติธรรมที่สว่างไสวด้วยแสงแห่งธรรมทั้งกลางวันและกลางคืนสถานที่ใดก็ตาม ที่มีการรวมตัวกันทำความดี ความสว่างไสวย่อมบังเกิดขึ้น สิริมงคลทั้งหลายจะหลั่งไหลมาสู่ตัวเรา และทุกคนในครอบครัว ยิ่งกว่านั้น หากเราสามารถชักชวนบุคคลใดให้มาทำใจหยุดใจนิ่ง มาฟังธรรม และมาเข้าถึงธรรมที่บ้านของเราได้ เขาจะไม่มีวันลืมเราเลยจนตลอดชีวิต เราจะอยู่ในดวงใจเขาตลอดเวลา ในฐานะเป็นยอดกัลยาณมิตรผู้ให้แสงสว่างแก่เขาและชาวโลกบวชเข้าพรรษา เข้าพรรษานี้จะเป็นพรรษาแห่งความสมปราถนาของพวกเราทุกคนเพราะฉะนั้น หากใครอยากได้บุญใหญ่ ที่เป็นไปเพื่อการตรัสรู้ธรรมติดตัวไปข้ามภพข้ามชาติ และอยากมีญาติมิตรพวกพ้องบริวารที่เป็นนักปราชญ์บัณฑิต เป็นสัมมาทิฐิ มีกัลยาณมิตรคอยแนะนำตลอดเส้นทางการสร้างบารมี ให้เริ่มต้นด้วยการเปิดบ้านกัลยาณมิตร ให้ผู้มีบุญได้มากลั่นกาย วาจา ใจ ทำความบริสุทธิ์ให้บังเกิดขึ้นแก่โลก โลกของเราก็จะกลายเป็นโลกแก้วที่น่าอยู่ ในวันธรรมดาเราก็ปฏิบัติกันที่บ้าน ส่วนวันอาทิตย์เราก็มาสร้างบารมีรวมกันที่วัด ถ้าทำเช่นนี้ได้ พรรษานี้จะเป็นพรรษาแห่งความสมปรารถนาของพวกเราทุกคนพระธรรมเทศนา โดย: พระเทพญาณมหาทุนี (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)*มก. เรื่องพระจักขุปาลเถระ เล่ม 40 หน้า 8
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น